ฟันคุด อีกหนึ่งปัญหาที่ใครหลายคนต่างประสบพบเจอ ซึ่งสามารถสร้างความเจ็บปวดและความน่ารำคาญให้กับใครหลาย ๆ คน อาการของฟันคุดคือการที่ฟันไม่สามารถโผล่พ้นขึ้นมาจากเหงือกได้เหมือนฟันโดยปกติทั่ว ๆ ไป อาจจะโผล่ขึ้นมาเพียงแค่บางส่วน หรือฝังอยู่ที่บริเวณด้านในของขากรรไกร สาเหตุของการเกิดฟันคุดนั้นมาจากการที่ฟันในรูปแบบนี้มีการเจริญเติบโตช้ากว่าฟันทั่ว ๆ ไป จึงทำให้ไม่มีที่ว่างเหลือสำหรับฟันเหล่านี้

 

ทำไมเราต้องถอนฟันคุด

การถอนฟันคุด ซึ่งเป็นฟันกรามซี่สุดท้ายนั้น อาจจะไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดในทุก ๆ กรณี ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลเท่านั้น บางคนหากไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่หากฟันคุดเหล่านั้นสร้างความเจ็บปวด หรือทำให้เศษอาหารลงไปติดในซอกฟันจนเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันตามมา ในกรณีนี้เราแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเหงือกและฟันตามมาได้ แล้วปัญหาเหล่านั้นมีอะไรบ้าง เรามาดูกันค่ะ

 

ปัญหาสุขภาพเหงือกและฟันที่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่ผ่าฟันคุด

  • ฟันผุ: เกิดขึ้นจากคราบจุลินทรีย์เข้าไปทำลายสารเคลือบฟัน ซึ่งเกิดจากการที่เศษอาหารเข้าไปติดอยู่ตามซอกฟัน
  • โรคเหงือก: เหงือกมีอาการบวม แดง และเจ็บปวด เนื้อเยื่ออ่อนรอบฟันเกิดการติดเชื้อทำให้เหงือกคลุมฟันอักเสบ
  • เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ: เป็นการติดเชื้อที่ลิ้น ลำคอ และกระพุ้งแก้ม
  • อาจทำให้เกิดเนื้องอกในช่องปากได้

จะเห็นได้ว่าปัญหาสุขภาพเหงือกและฟันที่เกิดขึ้นจากการปล่อยปละละเลยปัญหาเรื่องฟันคุด ถือเป็นปัญหาใหญ่ไม่ใช่น้อย ดังนั้น ใครที่มีปัญหานี้ แนะนำให้ไปพบทันตแพทย์เสียจะดีกว่า

 

เมื่อไหร่ที่เราควรไปพบทันตแพทย์

หากคุณมีอาการเจ็บปวดที่บริเวณขากรรไกรหรือรู้สึกอึดอัดไม่สบายที่บริเวณนั้น แนะนำให้รีบไปพบทันตแพทย์ทันที การปล่อยไว้อาจจะทำให้เกิดปัญหาในช่องปากได้ ทันตแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยและลงความเห็นว่าควรรับการผ่าตัดหรือไม่ หากทันตแพทย์ลงความเห็นว่าควรได้รับการผ่าตัด ทันตแพทย์จะทำการเอกซเรย์ช่องปากก่อนที่จะทำการผ่าตัด

 

ขั้นตอนการผ่าฟันคุด

การผ่าฟันคุดจำเป็นจะต้องฉีดยาชาเพื่อระงับความเจ็บปวดขณะทำการผ่าตัด โดยยาชาที่ใช้มักจะใช้กัน 3 ประเภท คือ ยาชาเฉพาะที่ ที่สามารถฉีดได้ตรงบริเวณเหงือก ยาชาชนิดกล่อมประสาทที่จะฉีดเข้าทางสายน้ำเกลือ และยาชาแบบยาสลบ

หลังจากที่ให้ยาชาแก่คนไข้แล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มลงมือทำการผ่าตัดโดยใช้ใบมีดกรีดที่บริเวณเหงือกเพื่อเปิดแผลให้สามารถถอนฟันคุดนั้นออกมาได้ บางกรณีทันตแพทย์จำเป็นต้องตัดฟันเหล่านั้นเป็นชิ้น ๆ เพื่อความสะดวกในการนำเศษฟันเหล่านั้นออกมา หลังจากนั้นทันตแพทย์จะทำการล้างทำความสะอาดแผลและเย็บแผล จากนั้นทันตแพทย์จะใช้ผ้าก็อชมาปิดบริเวณปากแผลเพื่อห้ามเลือดไม่ให้ไหลออกมา

 

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด

การผ่าฟันคุดนั้นจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดด้วยเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าการผ่าตัดฟันคุดนั้นไม่จำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ แต่การเตรียมตัวที่ถูกต้องก่อนรับการผ่าตัดนั้นไม่ได้มีอะไรมาก เพียงแค่ทำความสะอาดช่องปากและทำความสะอาดฟันให้เรียบร้อยก่อนได้รับการผ่าตัดเท่านั้นเอง

สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ อาจจะมีคำถามว่า คนท้องถอนฟันได้ไหม? สำหรับคำแนะนำจากทางเรา ทางเราแนะนำว่าช่วงเวลาในการตั้งครรภ์ที่เหมาะสมที่สุดที่จะมาถอนฟันคือช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ เพราะช่วงนี้คุณแม่ได้ผ่านระยะของการแพ้ท้องมาแล้ว จึงมีโอกาสน้อยที่จะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ขณะอยู่ในขั้นตอนการผ่าตัด อีกทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์อาจจะต้องใช้ยาชาชนิดพิเศษจำพวก Xylocaine หรือ  Lidocaine ซึ่งเป็นยากลุ่มบีที่คนท้องสามารถใช้ได้ แต่ควรใช้ในปริมาณที่น้อยที่สุด

 

การดูแลตัวเองหลังเข้ารับการผ่าตัด

หลังจากเข้ารับการผ่าตัดฟันคุดแล้วนั้นมักจะมีอาการเจ็บปวด ทันตแพทย์มักจะจ่ายยาแก้ปวดให้ แต่สำหรับการดูแลตัวเองหลังผ่าฟันคุด มีดังนี้

  • กัดผ้าก็อชไว้เป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง หลังรับการผ่าตัดเพื่อห้ามเลือดไม่ให้ไหลออกมา
  • หากเลือดไม่หยุดไหล ให้ประคบน้ำแข็งที่บริเวณข้างแก้ม
  • ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากในช่วง 1-2 วันแรก หลังเข้ารับการผ่าตัดฟันคุด แต่สามารถแปรงฟันได้ตามปกติ
  • รับประทานอาหารอ่อน ๆ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสจัด หรือดูดบุหรี่
  • ไม่ใช่ไม้จิ้มฟันไปแคะ หรือแกะที่บริเวณแผล อีกทั้งไม่ควรดูดแผลเล่น
  • หากเกิดความผิดปกติ หรืออาการบวม ให้กลับไปพบแพทย์

 

ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าฟันคุด

คนไข้บางรายอาจจะประสบปัญหาภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงฟลังผ่าฟันคุด โดยอาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย มีดังนี้

 

กระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Alveolar Osteitis)

เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการที่ลิ่มเลือดไม่แข็งตัวจนทำให้กระดูกเบ้าฟันว่างเป็นโพรงและแห้ง ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดที่บริเวณเหงือกหรือขากรรไกรอย่างรุนแรง เมื่อมีอาการเหล่านี้ควรพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยทันตแพทย์จะทำการล้างทำความสะอาดบริเวณกระดูกเบ้าฟันและปิดด้วยผ้าปิดแผลที่สามารถเปลี่ยนใหม่ได้จนกว่าแผลจะหาย

 

เส้นประสาทใบหน้าเกิดอาการบาดเจ็บ

พบได้หลังจากการผ่าตัดแต่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก อาการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บแปลบและชาที่บริเวณลิ้น ที่ริมฝีปากล่าง บริเวณคาง ฟัน และเหงือก อาการเจ็บปวดดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่ถ้าหากนานกว่านั้นแสดงว่าเส้นประสาทเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นคนไข้ควรรับทราบความเสี่ยงเรื่องภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวก่อนทำการผ่าตัดและปรึกษาทันตแพทย์หากมีอาการเหล่านี้อย่างรุนแรง

 

ราคาผ่าฟันคุด

การผ่าฟันคุด ซี่ละกี่บาทนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลและคลินิก หากถามว่าผ่าฟันคุดที่ ไหนถูกนั้น คำตอบก็มีมากมายและแตกต่างกันไปตามสถานที่ที่ไปรับบริการ โดยค่าถอนฟันคุด ผ่าฟันคุด ราคาถูก แนะนำให้ไปใช้บริการกับโรงพยาบาลของรัฐบาล ซึ่งโรงพยาบาลรัฐบาลจะให้บริการถอนฟันคุดราคาถูกมากกว่าการใช้บริการกับโรงพยาบาลเอกชนหรือตามคลินิกต่าง ๆ โดยราคาถอนฟันคุด จะเริ่มต้นที่ซี่ละ 800 บาท และราคาอาจจะแตกต่างกันไปตามสถานที่ที่รับบริการ

แต่สำหรับการเข้ารับผ่าตัดฟันคุดนั้น ก็มักจะมีความเข้าใจผิดในหมู่สาว ๆ กันไม่ใช่น้อย โดยสาว ๆ หลายคนมักเข้ามาใช้บริการเนื่องจากประเด็นเรื่องความสวยงาม เช่น การเชื่อว่าการผ่าฟันคุด หน้าเรียวยาวและสวยมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าใจที่ผิด การเข้ารับการผ่าตัด เพื่อจุดประสงค์ทางด้านสุขภาพเท่านั้น และหากจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดจริง ๆ ก็ควรหาอ่านรีวิวถอนฟันคุด และศึกษารายละเอียดต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยในการเข้ารับการผ่าตัด อีกทั้งควรเลือกใช้บริการคลินิกหรือโรงพยาบาลที่สะอาดและได้มาตรฐานอีกด้วย